Motorsportlives

[Special Scoop] โมโตจีพี ขึ้นค่าลิขสิทธิ์ 70 ล้าน! เอกชนไม่ไหว-รัฐบาลต้องแสดงบทบาท

ประเทศไทย จะได้สิทธิ์ในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน โมโตจีพี ต่อหรือไม่หลังหมดสัญญาในปี 2020 นี่คือประเด็นสำคัญที่ได้รับการจับตาอย่างใกล้ชิด วันนี้ Motorsportlives.com ถอดรายละเอียดสำคัญล่าสุดมาให้ติดตามกัน ผ่านรายงานพิเศษชิ้นนี้ครับ

การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เป็นคู่สัญญากับ ดอร์น่า สปอร์ต เซ็นสัญญา 3 ปี เพื่อจัดการแข่งขัน โมโตจีพี ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ระหว่างปี 2018-2020 ด้วยค่าลิขสิทธิ์ราว 300 ล้านบาทต่อปี โดยมี บริษัท บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จำกัด เป็นผู้บริหารสิทธิ์ 

เป็นที่เข้าใจว่า สนามช้างฯ ภายใต้การบริหารงานของ บริษัท บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จำกัด คือตัวกลางเชื่อมโยงรัฐบาลไทย ให้มีโอกาสได้พูดคุยกับ ดอร์น่า สปอร์ต จนเป็นที่มาของ ไทยแลนด์ กรังด์ปรีซ์ ที่เริ่มต้นขึ้นได้ครั้งแรกในปี 2018 ภายใต้การควักกระเป๋าของภาครัฐเป็นจำนวนเงิน 100 ล้านบาทต่อปี จากค่าลิขสิทธิ์ปีละ 300 ล้านบาท

ฉะนั้น ภาระการหาเงินค่าลิขสิทธิ์ให้เพียงพอนั้น ตกอยู่ที่ผู้บริหารสิทธิ์อย่าง บริษัท บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จำกัด ที่จะต้องหาเงินสนับสนุนเพิ่มอีก 200 ล้านบาท และพันธมิตรของ สนามช้างฯ อย่าง เครื่องดื่มตราช้าง, ปตท., มอเตอร์ไซค์ฮอนด้า-ยามาฮ่า, และแบรนด์อื่นๆ ที่ปรากฏในสนามก็ก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญ

ขณะที่ภายหลัง ปตท. จะก้าวมาเป็น Title Sponsor หลัก จนในที่สุด โมโตจีพี ก็เปิดตัวประเทศไทยภายใต้ชื่อรายการ พีทีที ไทยแลนด์ กรังด์ปรีซ์ 2018 ซึ่งท้ายที่สุดสามารถคว้า “เบสต์ กรังด์ปรีซ์ ออฟ เดอะ เยียร์” มาครอง แถมตัวเลขสถิติผู้ชม 3 วัน จาก ดอร์น่า สปอร์ต พบว่า “สนามช้างฯ” มีผู้ชมมากที่สุดจาก 19 สนามตลอดทั้งปี

แต่รู้ไหมครับ? เงินสนับสนุนจำนวนหลายสิบล้านของ “พีทีที ไทยแลนด์ กรังด์ปรีซ์” นั้น ไม่ได้เข้ากระเป๋าของฝ่ายจัดการแข่งขันในเมืองไทย ทว่าเป็นการจ่ายตรงให้กับ ดอร์น่า สปอร์ต เจ้าของลิขสิทธิ์โมโตจีพี นั่นเอง ทว่านั่นคือส่วนสำคัญที่ทำให้ โมโตจีพี เกิดขึ้นในเมืองไทย โดยมีแบรนด์น้ำมันแห่งประเทศไทยเป็นผู้สนับสนุนหลัก

การแบกภาระ 200 ล้านบาท เพื่อเติมให้เต็ม 300 ล้านบาท สำหรับค่าลิขสิทธิ์ โมโตจีพี คือหนึ่งในสาเหตุหลักที่ “สนามช้างฯ” ตัดสินใจปล่อย “เวิลด์ ซูเปอร์ไบค์ แชมเปี้ยนชิพ” ซึ่งมีค่าลิขสิทธิ์ต่อปีราว 100-120 ล้านบาทต่อปีออกไป เพื่อนำเม็ดเงินตรงนั้นมากองรวมกันสำหรับ โมโตจีพี นั่นเอง

คำถามที่ว่า “ประเทศไทย กับ โมโตจีพี จะได้ไปต่อหรือไม่?” หลังจบปี 2020 ณ ตอนนี้ บอกตามตรงยังไม่มีคำตอบ… 

โดยปกติแล้ว การประกาศต่อสัญญา โมโตจีพี มักเกิดขึ้นระหว่างที่การจัดการแข่งขัน ปีรองสุดท้าย เพราะหมายความว่าประเทศนั้นๆ หรือ สนามนั้นๆ จะเหลือสัญญาเพียงปีเดียว

“สนามช้าง” ลั่นสนองทุกเสียงแฟนชาวไทยปรับปรุง โมโตจีพี 2019

ล่าสุด “เรดบูลล์ ริง” ประเทศออสเตรีย ก็เพิ่งประกาศต่อสัญญาออกไปเป็นเวลา 5 ปี ในการแข่งขันเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา…

ส่วนประเทศไทยยังเหลือเวลาให้เดินเกมอีกไม่ถึง 2 เดือน ก่อนเข้าสู่กสารแข่งขัน พีทีที ไทยแลนด์ กรังด์ปรีซ์ ระหว่างวันที่ 4-6 ตุลาคมนี้…

แหล่งข่าวระดับสูงจาก สนามช้างฯ ยืนยันกับ Motorsportlives.com ว่า ณ ขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณใดๆ จาก รัฐบาล เกี่ยวกับการต่อสัญญา โมโตจีพี ขณะที่ค่าลิขสิทธิ์นั้นพุ่งขึ้นอีก 70 ล้านบาทต่อปี จากสัญญาปัจจุบัน นั่นหมายความว่า ค่าลิขสิทธิ์เพิ่มขึ้นเป็นปีละราว 370 ล้านบาทต่อปีนั่นเอง

“ตอนนี้เอกชนแบบก็ไม่ไหวจริงๆ ครับ กับการต่อสัญญา ภาครัฐต้องช่วยเท่านั้น เราถึงจะรักษา ไทยแลนด์ กรังด์ปรีซ์ ไว้กับ ประเทศไทยได้” นายตนัยศิริ ชาญวิทยารมณ์ กรรมการผู้อำนวยการ สนามช้างฯ เผยกับ Motorsportlives.com 

คำถามคือจุดลงตัวจะไปอยู่ตรงไหน? เอกชน จะต้องระดมทุนเพิ่ม หรือ รัฐบาลจะออกเงินรัฐเพิ่มขึ้นจากเดิม 100 ล้านบาท เป็น 170 ล้านบาทต่อปี หรือมากกว่านั้น

ประเทศที่จ่อคิวรอ โมโตจีพี นั้นมีเยอะเหลือเกิน แต่ที่ชัดเจนที่สุดคือในปี 2020 ฟินแลนด์ จะเพิ่มเข้ามาอีกสนาม การแข่งขันจะเพิ่มขึ้นมาเป็น 20 เรซต่อปี และเป็นฤดูกาลที่มีการแข่งขันมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของ เวิลด์ กรังด์ปรีซ์ เลยก็ว่าได้…

โดยหนึ่งในสนามที่ยัง “ลูกผีลูกคน” คือ ออโตโมโตโดรม เบอร์โน สาธารณรัฐเช็ก ที่เจ้าของสนามอย่าง คาเรล อับราฮัม ได้ออกมาเผยว่าปี 2019 อาจเป็นปีสุดท้ายของ เช็ก กรังด์ปรีซ์ ในปฏิทิน โมโตจีพี แม้จะยังเหลือสัญญาอย่างน้อย 2-3 ปีก็ตาม เหตุผลคือ “ภาครัฐ” ลดงบสนับสนุนค่าลิขสิทธิ์

ทำให้ อับราฮัม ถึงกับออกมาพูดกับสื่อครั้งแรกว่า “มันไม่ยุติธรรมกับ สนามเบอร์โน หากต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์เพียงฝ่ายเดียว เพราะเม็ดเงินมหาศาลนั้นเทเข้ารัฐบาลเต็มๆ ทั้งภาษีต่างๆ การท่องเที่ยว กิจการภาครัฐทั้งขนส่งและการบิน รวมถึงกิจการท้องถิ่นต่างๆ อาทิ แท็กซี ซึ่งรัฐบาลมีเอี่ยวด้วย” 

ในปี 2021 ดอร์น่า เซ็นสัญญาเริ่มต้นกับ อินโดนีเซีย เพื่อจัด โมโตจีพี แบบ สตรีท เรซ ครั้งแรก ที่ เกาะลอมบอก และโครงการก็เดินหน้าอย่างต่อเนื่อง แถมข่าวล่าสุด เวียดนาม ที่จะเป็นเจ้าภาพรถสูตรหนึ่งครั้งแรกในเมืองหลวง ก็แสดงท่าทีสนใจดึง โมโตจีพี ไปจัดที่ประเทศของพวกเขาเช่นกัน…

ฉะนั้น ประเทศไทยจะรอช้าไม่ได้แล้ว… รัฐบาลต้องออกมาแสดงท่าทีกับการต่อสัญญ่ในครั้งนี้ อีกไม่ถึง 2 เดือนใน พีทีที ไทยแลนด์ กรังด์ปรีซ์ แฟนๆ ชาวไทยจะได้รับข่าวดีหรือไม่ “รัฐบาล” จะเป็นผู้กำหนดคำตอบนี้…

และหนึ่งในสิ่งที่ “แฟนๆ โมโตจีพี” อย่างเร็วๆ จะช่วยได้คือ ออกมาแสดงพลังในการไปชมการแข่งขันให้มากที่สุด ทำให้ภาครัฐเห็นว่า “โมโตจีพี คือวาระสำคัญที่ รัฐบาลจะต้องเก็บไว้คู่กับประเทศไทย”

Exit mobile version