“กรมการขนส่งทางบก” ลงนาม “การกีฬาแห่งประเทศไทย” ผลักดัน โมโตจีพี เป็นวาระสำคัญของประเทศไทย พร้อมอำนวยความสะดวกแฟนความเร็วหลายแสนคน ปรับปรุงเส้นทางให้สมบูรณ์ ขยายถนนส่วนที่เป็นคอขวดลดการจราจรติดขัด เพิ่มรถโดยสารประจำทางจาก กทม.-บุรีรัมย์ กว่า 60 เที่ยวต่อวัน จาก นครราขสีมา-บุรีรัมย์ 120 เที่ยวต่อวัน และรถโดยสารไม่ประจำทางไม่ต่ำกว่า 10 เส้นทาง ขณะเดียวกันยังเตรียม ชัตเติ้ล บัส 4 เส้นทางวิ่งรับส่งตลอด 3 วันของการแข่งขัน
ประเทศไทย เตรียมรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันรถจักรยานยนต์ทางเรียบชิงแชมป์โลก โมโตจีพี 2019 สนามที่ 15 รายการ พีทีที ไทยแลนด์ กรังด์ปรีซ์ 2019 ระหว่างวันที่ 4-6 ตุลาคมนี้ ที่ สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จ.บุรีรัมย์ โดยนับเป็นปีที่ 2 ติดต่อกันที่ ไทย รับบทบาทฝ่ายจัดการแข่งขันมอเตอร์สปอร์ตระดับเวิลด์คลาสรายการนี้
จากความร่วมมือของทั้งภาครัฐ และเอกชน ส่งผลให้ พีทีที ไทยแลนด์ กรังด์ปรีซ์ วึ่งเป็นศึก โมโตจีพี ครั้งแรกในประเทศไทย ถูกยกให้เป็น “เบสต์ กรังด์ปรีซ์ ออฟ เดอะ เยียร์” ด้วยจำนวนผู้ชมมากที่สุด 222,535 คน จากทั้งสิ้น 19 สนาม ขณะเดียวกันยังสร้างเม็ดเงินมหาศาลหมุนเวียนตลอด 3 วันของการแข่งขัน
ล่าสุด เมื่อวันศุกร์ที่ 30 สิงหาคมที่ผ่านมา กรมการขนส่งทางบก ร่วมกับ การกีฬาแห่งประเทศไทย จัดงานแถลงข่าวพิธีลงนาม ความร่วมมือและการสนับสนุน การแข่งขัน โมโตจีพี รายการ พีทีที ไทยแลนด์ กรังด์ปรีซ์ 2019 ขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ เพื่อแสดงเจตนารมณ์ในการใช้ศึกจักรยานยนต์ทางเรียบชิงแชมป์โลก สะท้อนสู่นโยบายการขับขี่ปลอดภัยเพื่อรณรงค์ให้เป็นวาระสำคัญของประเทศไทย
ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า “ถือเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่มีการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐกันเอง ผลลัพธ์ที่ได้เป็นผลดีแก่ประเทศชาติของเรา จึงเรียกได้ว่า พีทีที ไทยแลนด์ กรังด์ปรีซ์ ตรงตามยุทธศาสตร์ “สปอร์ตทัวริซึ่ม” ของรัฐบาล เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่องค์กรภาครัฐทุกภาคส่วน ให้ความสำคัญกับการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน โมโตจีพี ของ ประเทศไทย เพราะผลประโยชน์ที่กลับมาสู่ประเทศไทยนั้นมากมายจริงๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว การจับจ่ายใช้สอยของคนที่มาชมการแข่งขัน”
ขณะเดียวกัน ดร.ก้องศักด ยังเปิดเผยว่า การเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันมอเตอร์สปอร์ตระดับโลกในประเทศไทย ส่งผลให้มีผู้ชมเดินทางมาจากทั้งต่างประเทศ และในประเทศ โดยส่วนใหญ่เดินทางโดยโครงข่ายทางบก ฉะนั้นกรมการขนส่งทางบกจึงเป็นหน่วยงานสำคัญมาก ที่ให้การสนับสนุนทั้งในเรื่องการอำนวยความสะดวก และความปลอดภัยของเส้นทาง นอกจากนี้ ยังมีโครงการความร่วมมือระหว่างกันในการรณรงค์การขับขี่อย่างปลอดภัย
นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า “ในช่วงการแข่งขัน พีทีที ไทยแลนด์ กรังด์ปรีซ์ ปีที่ผ่านมา มีผู้ชมจากทั่วโลกเดินทางมาดู พีทีที ไทยแลนด์ กรังด์ปรีซ์ เป็นจำนวนมาก ผู้ชมหลักๆ ใช้การเดินทางผ่านรถยนต์และรถจักรยานยนต์ส่วนตัว ถือเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่ใช้รถมอเตอร์ไซด์ โดยเฉพาะบิ๊กไบค์ที่มาเป็นคาราวาน เรานำกระเเสดังกล่าวมารณรงค์เพื่อให้เยาวชนเเละคนไทยทุกคน เล็งเห็นความปลอดภัยในการขับขี่รถจักรยานยนต์ โดยมีนักแข่งระดับโลกเป็นแรงบันดาลใจ ซึ่งทุกคนจะต้องสวมหมวกกันน็อค และมีอุปกรณ์ป้องกันอันตรายของตัวเองทุกครั้งเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ก็จะไม่เกิดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน พร้อมปลูกฝังให้คนไทยทุกคนให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยในการขับขี่บนท้องถนน”
“เรามีโครงการความร่วมมือส่งเสริมความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน รณรงค์การขับขี่รถจักรยานยนต์ที่ปลอดภัยผ่านแข่งขันรายการ พีทีที ไทยแลนด์ กรังด์ปรีซ์ 2019 อีกครั้ง กับแคมเปญ ”ความเร็วใช้ในสนามแข่งเท่านั้น” โดยมีภาพยนตร์โฆษณาตัวใหม่ ที่จะเปิดตัวครั้งแรกในวันนี้ และบูธกิจกรรมในวันงานที่ใหญ่ขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาและอัดแน่นกิจกรรมให้ความรู้ เพื่อเน้นย้ำกับกลุ่มเป้าหมายให้ใช้ความเร็วให้ถูกสถานที่ มีเกมส์การขับขี่แบบใช้ความเร็วในสนามแข่งและถนนจำลองเพื่อการขับขี่อย่างถูกกฎหมายบนท้องถนนอีกด้วย”
ด้านการอำนวยความสะดวกแก่แฟนมอเตอร์สปอร์ตหลายแสนคน ระหว่างสุดสัปดาห์การแข่งขัน พีทีที ไทยแลนด์ กรังด์ปรีซ์ 2019 นายพีระพล กล่าวว่า “การเตรียมความพร้อมในเรื่องของการอำนวยความสะดวกให้กับแฟนๆ มอเตอร์สปอร์ต ที่จะเดินทางไปรับชมการแข่งขัน เป็นหนึ่งในภาระกิจหลักของกระทรวงคมนาคม เพื่อสนองต่อนโยบายของกระทรวงคมนาคม เนื่องจากการเดินทางสู่จังหวัดบุรีรัมย์โดยโครงข่ายทางบกนั้น นับเป็นวิธีหลักที่ผู้ชมส่วนใหญ่จะใช้ในการเดินทางไปชม”
“เราได้เตรียมความพร้อมของเส้นทางหลักของการเดินทางสู่จังหวัดบุรีรัมย์ ให้พร้อมที่สุด ทั้งการบำรุง ซ่อมแซมผิวถนน การีตเส้นจราจรให้ชัดเชน และปรับปรุงทัศนียภาพโดยรอบให้มีความสวยงาม ในเส้นทางหลักของกรมทางหลวงที่จะขยายเส้นทาง เช่น สายบุรีรัมย์-นางรอง ซึ่งมีบูรณะผิวทางเดิม วึ่งเดิมทีเป็นเส้นทางรองให้พร้อมรองรับการเกินทางของแฟนมอเตอร์สปอร์ตจำนวนมาก พร้อมกับปรับปรุงบริเวณคอขวดไหล่ทาง มีการติดตั้งป้ายบอกทางเพิ่มเติมเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาจราจรติดขัด ภายในจังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์”
นอกจากนั้น กรมการขนส่งทางบก ยังเตรียมแผนการรองรับเดินทางระหว่างการแข่งขัน สำหรับแฟนๆ มอเตอร์สปอร์ตที่ต้องการเดินทางระหว่างจังหวัดใกล้เคียง ด้วยการเพิ่มเที่ยวรถโดยสารสาธารณะในช่วงการจัดงาน โดยในส่วนของ บขส. เส้นทาง กทม.-บุรีรัมย์ จะมีรถวันละไม่ต่ำกว่า 60 เที่ยวต่อวัน เส้นทางนครราชสีมา–บุรีรัมย์ ไม่ต่ำกว่า 120 เที่ยวต่อวัน รถโดยสารประจำทางไม่ต่ำกว่า 10 เส้นทาง
สำหรับ การอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชนที่จะเข้ามาชมการแข่งขันในจังหวัดบุรีรัมย์ กรมการขนส่งทางบก ได้เตรียมรถ Shuttle Bus 4 เส้นทาง ได้แก่ ท่าอากาศยานบุรีรมย์ – สนามช้างอารีน่า, สถานีรถไฟบุรีรัมย์ – สนามช้างอารีน่า, สถานีขนส่งบุรีรัมย์ – สนามช้างอินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต และ อบจ.บุรีรัมย์ – สนามช้างอินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต และมีรถลูป 3 เส้นทาง ได้แก่ วงเวียน รัชกาลที่ 1 – สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนลเซอร์กิต, เรือนจำ – แยกภัทร และ แยกภัทร – แยกกระสัง
นายตนัยศิริ ชาญวิทยารมณ์ กรรมการผู้อำนวยการ สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต กล่าวว่า “ความร่วมมือของทุกองค์กร ทั้งภาครัฐและเอกชน ถือเป็นการแสดงพลังอันเต็มเปี่ยมของคนไทย เพื่อเตรียมความพร้อมรองรอบแฟนมอเตอร์สปอร์ตจากทั่วโลก และในเมืองไทยหลายแสนคนตลอดสุดสัปดาห์การแข่งขัน ผมเชื่อว่าจากความร่วมมือที่ยอดเยี่ยมตั้งแต่ปีที่ผ่านมา จนถึงในปีนี้ซึ่งทุกฝ่ายยกระดับการทำขึ้นมาเกือบเท่าตัว จะทำให้ประเทศไทยได้รับการยดย่องอย่างมากจากแฟนความเร็วที่เข้าชมการแข่งขัน และจะทำให้ โมโตจีพี ในประเทศไทยนั้นประสบความสำเร็จอย่างมาก สิ่งสำคัญของการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันมอเตอร์สปอร์ตระดับโลก คือการมอบความสะดวกสบายแก่แฟนความเร็ว เพื่อให้พวกเขามีความสุขที่สุดในการชมการแข่งขันในประเทศไทยของเรา”