Motorsportlives

[F1 Tech Analysis] วิเคราะห์เทคนิค เมอร์เซเดส W11 รถแข่งทีมแชมป์โลก

ถึงแม้ว่า เมอร์เซเดส [Mercedes F1] จะสามารถสร้างปรากฏการณ์คว้าแชมป์โลกอย่างต่อเนื่องมาเป็นสมัยที่ 6 แต่ใช่ว่าพวกเขาจะรู้สึกผ่อนคลายต่อความสำเร็จที่เกิดขึ้น พวกเขายังคงมุ่งมั่นในการพัฒนารถอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อที่พวกเขาจะได้ไม่เพลี่ยงพล้ำต่อคู่แข่งที่กำลังไล่ตามมาอย่างไม่ลดละทั้งหลาย โดยเฉพาะกับ เฟอร์รารี [Ferrari] และเรดบูลล์ [Red Bull Racing]

W11 นั้นมีความแตกต่างที่เห็นได้ชัดจากตัวแข่งปีที่แล้ว อย่างแรกที่ทุกคนน่าจะสังเกตเห็นเหมือนกันก็คือ เมอร์เซเดสนั้นตามผู้นำเทรนด์อย่างเฟอร์รารีในการทำช่องไซด์พอดให้เล็กลงและยกสูงขึ้นด้วยการย้ายโครงสร้างกันกระแทกด้านข้างลงต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไซด์พอดที่ถูกยกจะรับอากาศที่ผ่านช่วงล่างปีกนกด้านหน้ามาได้แบบไม่ถูกก่อกวน และส่งอากาศมุดไปยังด้านข้างไซด์พอด ในขณะที่ด้านบนไซด์พอดนั้นมีการลู่ลงของรูปร่างชันกว่าปีที่ผ่านมา ช่วยให้อากาศที่ผ่านบริเวณนี้ถูกส่งไปยังท้ายรถอย่างเป็นระเบียบยิ่งขึ้น แน่นอนว่าการทำแพ็คเกจรถที่เพรียวกะทัดรัดมีโอกาสที่จะทำให้เครื่องยนต์เสี่ยงที่จะเกิดความร้อนสูง แต่ดูเหมือนว่าพวกเขาจะมั่นใจในการออกแบบและการแก้ไขปัญหาการระบายความร้อนของรถคันนี้

เมอร์เซเดส นั้นดูจะทุ่มเทกับการวิจัยในส่วนของช่วงล่างมากเป็นพิเศษ เริ่มตั้งแต่ช่วงล่างด้านหน้าซึ่งเราจะสังเกตเห็นตัวพุชร็อดที่สั้นมาก นั่นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความสูงพื้นรถและมีผลให้เพิ่มองศาการหักของล้อ นอกจากนั้นยังช่วยเหลือในเรื่องของการกระจายน้ำหนักในแนวทแยงของรถ ช่วยให้รถมีการยึดเกาะที่ดีขึ้นในจังหวะออกจากโค้ง และแน่นอนว่าพวกเขายังคงใช้หลักการเออาร์มยกสูง เพื่อหลบให้อากาศมุดผ่านข้างใต้ไปยังบริเวณบาร์จบอร์ดต่อไป

หลังจากที่อากาศผ่านส่วนหน้าและส่วนกลางของตัวรถมาอย่างเป็นระเบียบแล้ว ทีนี้มันก็มาถึงส่วนท้ายที่เมอร์เซเดสยังคงเล่นกับช่วงล่างเช่นกัน โดยพวกเขาออกแบบพื้นรถบริเวณหน้าล้อหลังใหม่ บีบบังคับให้อากาศมุดผ่านไประหว่างตัวรถกับล้อ ซึ่งในตรงนั้นเดิมทีจะเป็นตำแหน่งที่ตั้งของปีกนกช่วงล่างด้านหลัง นั่นทำให้พวกเขาออกแบบตำแหน่งยึดจับของเออาร์มใหม่ โดยการดันเออาร์มขาหลังไปยึดกับส่วนป้องกันการกระแทกด้านหลัง หรือก็คือผลักมันถอยไปไกลขึ้น ส่งผลให้อากาศไม่ถูกรบกวนโดยตำแหน่งปีกนก และทั้งหมดทั้งมวลของการออกแบบช่วงล่างนี้ เป้าหมายนั้นชัดเจนเป็นอย่างมาก พวกเขากำลังพยายามเพิ่มดาวน์ฟอร์ซของรถให้มากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา

ความพยายามในการเพิ่มดาวน์ฟอร์ซนั้น แน่นอนว่านั่นทำให้ตัวรถถูกกดลงกับพื้น ทำให้เกิดแรงเสียดทานที่เพิ่มขึ้น สิ่งนี้ส่งผลให้ความเร็วบนทางตรงของรถลดลง พวกเขาไม่ได้มองข้ามสิ่งนี้ไปอย่างใด และนี่คือไฮไลต์ของรถคันนี้ พวกเขาค้นพบวิธีลดแรงเสียดทานบนทางตรงโดยการปรับมุมโทของล้อ เมอร์เซเดสนั้นได้ติดตั้งระบบที่พวกเขาให้ชื่อเล่นมันว่า Dual-Axis Steering (DAS) โดยจะเป็นการปรับพวงมาลัยเข้า-ออก จากตัวผู้ขับขี่

เดิมทีนั้นล้อหน้าจะถูกเซตตำแหน่งมุมล้อโทเอาท์เอาไว้ เพื่อให้การเข้าโค้งเป็นไปอย่างมั่นคง แต่นั่นจะทำให้ทางตรงช้าลงเล็กน้อยเนื่องจากล้อทั้ง 2 ฝั่ง ไม่ได้ขนานและมุ่งไปยังแนวตรงของรถ 100% แต่ DAS นั้นได้ช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ เมื่อนักขับดึงพวงมาลัยเข้าหาตัว ล้อหน้าจะหุบเข้าหากันเล็กน้อย ทำให้ล้อกลับมาตั้งแนวตรง และเมื่อจะเข้าโค้ง นักแข่งเพียงแค่ผลักพวงมาลัยออก ล้อก็จะถูกปรับเข้าสู่ตำแหน่งโทเอาท์ที่ตั้งไว้เช่นเดิม

นวัตกรรมของเมอร์เซเดสตัวนี้นั้นเป็นที่กล่าวขานกันในแพดด็อกเป็นอย่างมาก ซึ่งเมอร์เซเดสนั้นก็ยังคงปิดปากเงียบไม่เปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติมออกมา

เจมส์ อัลลิสัน ผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิค “มันเป็นเพียงแค่การเพิ่มมิติในการบังคับเลี้ยวสำหรับนักขับ ซึ่งเราหวังว่ามันจะมีประโยชน์เมื่อฤดูกาลผ่านพ้นไปเรื่อยๆ แต่เราใช้มันอย่างไรและทำไมเราถึงใช้มัน นั่นเป็นสิ่งที่เราจะเก็บความลับไว้กับตัวเอง”

แน่นอนว่าเมื่อมีนวัตกรรมใหม่โผล่ออกมา คู่แข่งย่อมที่จะถามกรรมการถึงความถูกต้องตามกติกา ซึ่งเมอร์เซเดสมั่นใจว่ามันจะไม่เป็นปัญหาอย่างแน่นอน เพราะพวกเขาได้มีการปรึกษากับ FIA ตลอดมา

เจมส์ อัลลิสัน “นี่ไม่ใช่สิ่งใหม่สำหรับ FIA มันเป็นบางสิ่งที่เราได้พูดคุยกับพวกเขามาสักระยะแล้ว กติกานั้นชัดเจนเป็นอย่างมากเกี่ยวกับอะไรที่สามารถทำได้กับระบบบังคับเลี้ยว และเรามั่นใจว่ามันได้เข้ากับความต้องการของกติกาทุกอย่าง”

สำหรับผลการทดสอบรถครั้งแรกนั้น เมอร์เซเดสจบการทดสอบได้อย่างสวยหรูเช่นเคย พวกเขาวิ่งไปได้ระยะทางมากที่สุดโดยแทบไม่เกิดปัญหาใดๆ นั่นทำให้พวกเขาเก็บข้อมูลได้อย่างมหาศาล นอกจากนั้นพวกเขายังคิดค้นนวัตกรรมใหม่ออกมาเต็มคันรถ ทำให้เชื่อได้ว่า ณ จุดๆ นี้เมอร์เซเดสได้นำคู่แข่งไปแล้ว 1 ก้าว

Exit mobile version