มาดูทางด้าน เรดบูลล์ อีกหนึ่งทีมแข่งที่คนไทยน่าจะเชียร์กันเยอะพอสมควรเลยทีเดียว ในปีที่แล้วนักขับของพวกเขาช่วงครึ่งฤดูกาลแรกนั้นยังคงทำผลงานขลุกขลักอยู่ แต่ในครึ่งหลัง แม็กซ์ เวอร์สแท็พเพ่น และ อเล็กซานเดอร์ อัลบอน อังศุสิงห์ นักแข่งไทย ต่างช่วยกันโกยคะแนนให้ทีมเป็นกอบเป็นกำ
เมื่อเข้ามาสู่ปีที่ 2 ของนักขับชุดเดิม มันจึงน่าสนใจว่าพวกเขาจะสามารถยกระดับตัวเองขึ้นไปได้ขนาดไหน อีกทั้งเครื่องยนต์ฮอนด้าก็มีประสบการณ์ในการทำงานกับเรดบูลล์มาแล้ว 1 ปี ซึ่งในปีนี้หลายฝ่ายก็คาดหวังสิ่งที่ดีขึ้นจากเดิม
คอนเซ็ปต์พื้นฐานทางอากาศพลศาสตร์รถของ เรดบูลล์ นั้นมาในทางตรงกันข้ามกับ เมอร์เซเดส โดยสิ้นเชิง
เมอร์เซเดส ใช้คอนเซ็ปต์ Low Rake หรือก็คือเซ็ตให้พื้นรถมีความสูงระหว่างด้านหน้าและด้านหลังรถไม่แตกต่างกันมาก ในขณะที่ เรดบูลล์ นั้นมาในแนว High Rake ซึ่งเราจะเห็นได้ชัดเจนว่าท้ายรถของ เรดบูลล์ นั้นถูกยกสูงขึ้นมา
High Rake นับเป็นคอนเซ็ปที่เสี่ยงพอสมควร เพราะคุณต้องออกแบบทางอากาศพลศาสตร์ทุกอย่างให้ถูกต้องแม่นยำ หากผิดพลาดแม้เพียงเล็กน้อยคุณจะเสียข้อได้เปรียบทางอากาศพลศาสตร์ไป แต่ถ้าหากทำได้… ตัวรถก็จะเปรียบเสมือนดิฟฟิวเซอร์ขนาดใหญ่ที่สร้าง “ดาวน์ฟอร์ซ” ได้มหาศาล
ถ้าหากว่ารถ เมอร์เซเดส นั้นดูพัฒนาจากคันก่อนในช่วงท้ายรถ เรดบูลล์ ก็ดูพัฒนาจากคันก่อนในช่วงหน้ารถ ทีมกระทิงดุมีชื่อเสียงอันเลื่องลือในการออกแบบส่วนจมูกรถมาช้านาน และครั้งนี้ก็เช่นกัน จมูกรถ RB16 ดูผอมเพรียวลงอย่างชัดเจน และมีการเพิ่มรู 2 รู ขึ้นมาบนส่วนบนของปลายจมูกรถ
หลายฝ่ายยังคงไม่แน่ใจถึงจุดประสงค์ของมัน แต่คาดการณ์กันว่ามันจะช่วยดึงอากาศที่ผ่านเข้ามาใน S-Duct และฟีตอากาศจากข้างใต้จมูกรถขึ้นสู่ด้านบนให้เร็วขึ้น เพื่อที่จะลดแรงต้านอากาศที่ไปกระจุกอยู่บริเวณใต้จมูกรถ
ส่วนช่วงล่างของ เรดบูลล์ ก็ได้ให้ความสนใจไม่แพ้กัน พวกเขารู้ดีว่าเป็นรอง เมอร์เซเดส ในช่วงโค้งความเร็วต่ำเมื่อปีที่แล้ว ดังนั้นนี่คือสิ่งหนึ่งที่พวกเขาต้องการจะแก้ไข
เรดบูลล์ มีการออกแบบ “พุชร็อด” ที่สั้น ถึงแม้ว่าจะไม่สั้นเท่ากับ เมอร์เซเดส เพื่อยังผลในการเพิ่มการยึดเกาะที่โค้งความเร็วต่ำ แต่ส่วนที่สำคัญนั้นกลับอยู่ในบริเวณที่เรามองไม่เห็น
เรดบูลล์ ได้ทำการออกแบบรูปร่างของ “บัล์กเฮด” ใหม่ ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่าเพื่อทำแพ็คเกจลิงก์ และโช้คอัพภายในบริเวณนี้ใหม่ และมันยังช่วยให้เพิ่มข้อได้เปรียบของการวางตำแหน่ง S-Duct อีกด้วย
นอกจากนั้นพวกเขายังได้ติดครีบขนาดเล็กไว้บริเวณด้านบนฐานจมูกรถ เพื่อช่วยไล่อากาศเข้าไปยังบริเวณไซด์พอด
มาที่ส่วนช่วงล่างด้านหลัง เรดบูลล์ ได้ทำการยกปีกนกคู่สูงขึ้นมา โดยปีกนกส่วนล่างนั้นสูงขึ้นมาในระดับเดียวกับเพลาขับ เพื่อเป็นการลดการสร้างกระแสอากาศปั่นป่วนไปข้างหลัง และเช่นเดียวกันกับเมอร์เซเดส ส่วนหลังไซด์พอดนั้นลู่ลงด้านล่างและเพรียวลง เพื่อประโยชน์ทางด้านอากาศพลศาสตร์
ที่น่าสนใจอีกอย่างนั้นก็คือการออกแบบ “แอร์บ็อกซ์” โดย “แอร์บ็อกซ์” ของ เรดบูลล์ นั้นเป็นทรงกลมรีขนาดใหญ่และยกสูงขึ้นจากหัวนักขับ เนื่องจากนักขับทั้ง 2 คน ของ เรดบูลล์ นั้นถือว่าตัวสูงทีเดียว พวกเขาจึงต้องร่วมมือกับผู้ผลิตหมวกนิรภัยให้ออกแบบหมวกมาในรูปทรงที่พวกเขาต้องการ เพื่อที่หมวกนิรภัยจะได้ไม่ไปรบกวนอากาศก่อนเข้า “แอร์บ็อกซ์” ซึ่งอาจส่งผลต่อระบบระบายความร้อน
อเล็กซานเดอร์ อัลบอน อังศุสิงห์ ก็ได้ออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับตัวแข่ง RB16 ว่า มันเป็นรถที่ใช้งานได้ดีและพัฒนาขึ้นไปอีกก้าวจาก RB15
อเล็กซานเดอร์ อัลบอน “ผมน่าจะพูดได้ว่ามันใช้งานได้ดีขึ้นในแง่ของความรู้สึกจากรถ มันรู้สึกดีขึ้นในการขับ ผมคิดว่ามันมีบางจุดในปีที่แล้วที่เรารู้สึกว่ารถยังคงอ่อนด้อยอยู่ แต่แม็กซ์และผมได้ให้ฟีตแบ็คที่ค่อนข้างคล้ายกัน ดังนั้นมันชัดเจนว่าทิศทางไหนที่เราต้องการจะไป จากการทดสอบครั้งแรกนั้นตัวรถให้ความรู้สึกที่ดีขึ้นในบางจุด ฉะนั้นเราจึงได้พัฒนาก้าวขึ้นไปอีกขั้น”
ผลจากความพยายามในการพัฒนารถข้างต้น เรดบูลล์ นั้นมีผลการทดสอบก่อนเปิดฤดูกาลที่ดีขึ้นกว่าในปีที่ผ่านๆ มา พวกเขาเก็บระยะทางไปได้เป็นรองแค่เมอร์เซเดสเท่านั้น และ กีโยม ร็อคกีลิน หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรมการแข่งขัน ถึงกับออกปากว่า นี่เป็นหนึ่งในการทดสอบก่อนเปิดฤดูกาลสัปดาห์แรกที่น่าพึงพอใจที่สุดครั้งหนึ่งที่พวกเขาเคยมี มันเป็นการส่งสัญญาณโดยตรงไปยัง เมอร์เซเดส ว่าพวกเขาจะไม่สามารถเดินเข้าไปรับถ้วยรางวัลได้อย่างง่ายดายเกินไป เพราะ เรดบูลล์ พร้อมที่จะท้าชิงจนถึงที่สุด…