Motorsportlives

[F1 Tech Analysis] วิเคราะห์ SF1000 ม้าศึก “เฟอร์รารี่” ภารกิจทวงแชมป์โลก

“เฟอร์รารี่” ทีมยักษ์ใหญ่ที่ไม่ได้สัมผัสแชมป์โลกมายาวนาน นับตั้งแต่ปี 2007 ซึ่งเป็นแชมป์โลกครั้งสุดท้ายของพวกเขาจากผลงานของ คิมิ ไรค์โคเน่น และจากนั้นมา “ทีมม้าลำพอง” ก็ประสบปัญหาด้านฟอร์มในสนามอย่างมาก โดยเฉพาะกับการพัฒนารถแข่งที่ไม่สามารถขึ้นไปต่อกรกับคู่แข่งได้ แม้ล่าสุดจะเริ่มกลับมาต่อสู้ได้บ้างแล้วในปีที่ผ่านมา วันนี้ Motorsportlives.com นำข้อมูลเชิงลึกวิเคราะห์การพัฒรถแข่ง SF1000 ของ เฟอร์รารี่ มาให้ทุกท่านได้อ่านกัน… 

เป็นอีกครั้งที่ เฟอร์รารี คาดหวังถึงฤดูกาลใหม่ที่จะดีขึ้นสำหรับพวกเขา ทีมแข่งจากมาราเนลโลได้พ่ายแพ้และเป็นรองให้กับ เมอร์เซเดส มานับตั้งแต่มีการเปลี่ยนกฎใหม่ในปี 2017 โดยในปีที่แล้วพวกเขาออกมายอมรับถึงความผิดพลาดในการออกแบบรถ และกว่าจะหาทางแก้เกมกลับมาได้ก็ล่วงเลยเข้าสู่ครึ่งหลังของฤดูกาลเสียแล้ว

อย่างไรก็ตาม เฟอร์รารี ก็ยังคงเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวที่ทำให้ เมอร์เซเดส ปวดหัวตลอดมาเช่นกัน และในปีนี้พวกเขาตั้งใจจะใช้ความผิดพลาดในปีที่แล้วเป็นบทเรียนในการพัฒนารถให้ดียิ่งขึ้น

เซบาสเตียน เวทเทล

เฟอร์รารี ประกาศเป้าหมายในการออกแบบรถอย่างชัดเจนในปีนี้ พวกเขาต้องการเพิ่มดาวน์ฟอร์ซให้กับตัวรถ ทางทีมยังคงเล่นกับปีกหน้ารูปทรงเดิมที่ปีกด้านในนั้นสูงกว่าด้านนอก แต่ตรงจมูกรถและข้างใต้นั้นมีการเปลี่ยนแปลงที่สังเกตได้

จมูกรถของพวกเขาสั้นลงอีกเล็กน้อย และเปิดช่องให้อากาศไหลเข้าไปข้างใต้จมูกได้มากขึ้น ซึ่งข้างใต้นั้นอากาศจะเจอกับแผ่นที่มีรูปร่างคล้ายผ้าคลุม มันจะช่วยส่งอากาศไปยังหลายๆ ส่วนถัดจากนั้น รวมถึงขาตะขาบที่จะดึงอากาศเข้าไปยัง S-Duct ซึ่งทั้งหมดนี้ทางทีมต้องการลดกระแสอากาศปั่นป่วนบริเวณหน้ารถลง

ถัดไปนั้นเรียกได้ว่าเป็นส่วนที่เฟอร์รารีทำการโมดิฟายมากที่สุด นั่นคือบริเวณบาร์จบอร์ด พวกเขาได้จัดการเก็บรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ในจุดนี้ ชิ้นส่วนบูมเมอแรงที่ปีที่แล้วนั้นยึดระหว่างชาสซีส์กับไซด์พอด ได้ถูกแยกออกมาเป็นอิสระ ซึ่งมันจะช่วยให้เฟอร์รารีสามารถปรับแต่งแต่ละชิ้นส่วนให้เหมาะกับความต้องการของแต่ละสนามได้มากยิ่งขึ้น หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือ สามารถเซตอัพรถได้หลากหลายยิ่งขึ้น

ชาร์ลส์ เลอแคลร์

มาที่ส่วนหลังของไซด์พอด ดูเหมือนว่าทุกทีมนั้นจะมุ่งไปยังเป้าหมายเดียวกันโดยมิได้นัดหมาย นั่นคือการทำให้บริเวณหลังไซด์พอดมีขนาดที่เล็กและเพรียวลง คอนเซ็ปนี้นั้นเริ่มใช้ครั้งแรกกับแม็คลาเรนในปี 2015 ซึ่งเรียกว่าคอนเซ็ป “ขนาด 0” ในตอนนั้นมันได้สร้างปัญหาให้กับพวกเขาและฮอนด้าเป็นอย่างมาก แต่ดูเหมือนว่าปัจจุบันหากใครไม่สามารถออกแบบให้คอนเซ็ปนี้ใช้งานได้ รถของพวกเขาจะไม่สามารถสร้างดาวน์ฟอร์ซได้เพียงพอต่อความต้องการ อีกทั้งยังเกิดแรงต้านกับตัวรถเป็นอย่างมาก

ในส่วนของการทดสอบรถนั้น เฟอร์รารีก็ได้เปลี่ยนรูปแบบการทดสอบรถเช่นกัน โดยในการทดสอบครั้งแรกพวกเขาได้เน้นไปที่การเซตอัพทางอากาศพลศาสตร์รูปแบบต่างๆ แทนที่จะควานหาประสิทธิภาพรถอย่างที่หลายทีมทำ จาก GPS นั้นจะเห็นได้ว่าพวกเขาใช้โหมดเครื่องยนต์แบบถนอม

นั่นจึงเป็นสาเหตุที่เราไม่เห็นรถเฟอร์รารีขึ้นมาอยู่หัวแถวดังเช่นปีที่ผ่านๆ มา อย่างไรก็ตาม แมทเทีย บินอตโต ทีมบอส ได้ออกมาแสดงความกังวลเล็กน้อยถึงผลการทดสอบในครั้งแรก

แม็ตเทีย บิน็อตโต

แม็ตเทีย บิน็อตโต “เราจะเร็วได้อีกแค่ไหน? ผมคิดว่ามันยากที่จะตัดสิน เราจะลองมองดูข้อมูลในวันถัดๆ ไป แต่ผมไม่คิดว่าเราเร็วเท่าพวกเขา (เมอร์เซเดส, เรดบูลล์) ในตอนนี้”

“ใน 3 วันนี้มันสำคัญกับเรามาก อย่างน้อยเราก็ได้เก็บข้อมูลทุกอย่างเพื่อที่จะได้เห็นภาพที่ชัดเจนและทำความเข้าใจได้ดีขึ้น สิ่งที่สำคัญกว่าคือทำให้แน่ใจว่าเราจะพัฒนาไปยังทิศทางที่ถูกต้อง เรามีฤดูกาลที่ยาวนานถึง 22 เรซ ดังนั้นผมคิดว่าเรายังพอมีเวลาที่จะฟื้นฟอร์มทัน แต่ตอนนี้เราต้องรอสัปดาห์ถัดไปและที่ออสเตรเลีย ก่อนที่เราจะสรุปทุกอย่างและประเมินศักยภาพที่แท้จริงของทุกๆ คน”

เมื่อลองสอบถามความรู้สึกของนักขับ ชาร์ล เลอแคลร์ นั้นคิดว่า รถเฟอร์รารี ปีนี้มีการปรับเซตอัพรถที่ยืดหยุ่นขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาค่อนข้างดีทีเดียว

ชาร์ล เลอแคลร์ “เรามีความยืดหยุ่นในการเซตอัพตัวรถมากขึ้นในปีนี้ นี่เป็นสิ่งที่ดีสำหรับนักขับทั้งสอง เราสามารถที่จะปรับเปลี่ยนรถให้มีรายละเอียดที่เหมาะสมกับการขับของเรา เรายังคงไม่ได้ทดลองเค้นรถ แต่เรารู้ว่าเรามีความยืดหยุ่นมากขึ้น นี่คือความจริง นี่สามารถเรียกได้ว่าเป็นเรื่องที่ดี”

“เหตุผลหลักที่เราทำแบบนี้ เพราะปีที่แล้วในบางเรซเรามีความแข็งแกร่ง แต่ในบางเรซเรากลับทุลักทุเล ดังนั้นเพื่อที่จะปรับเปลี่ยนรถให้เหมาะสมกับแต่ละแทร็ค เราจำเป็นต้องมีความยืดหยุ่นมากขึ้นในเรื่องของเซตอัพ”

Exit mobile version