Motorsportlives

[MotoGP Tech] ซูซูกิ ย้ำแช่แข็งเครื่องยนต์เข้าทางป้องแชมป์โลก

ซูซูกิ เปิดเผยถึงการ “ระงับ” การพัฒนาด้าน “เทคนิค” ของ โมโตจีพี ซึ่งเป็นมาตรการพิเศษในช่วง โควิด-19 นับว่าเอื้อประโยชน์ต่อพวกเขากับภารกิจในการป้องกันแชมป์โลก โมโตจีพี ในปี 2021

ภายใต้วิกฤติ โควิด-19 ส่งผลให้ โมโตจีพี ออกมาตรการพิเศษเพื่อช่วยให้ทุกทีมลดงบประมาณในการพัฒนารถแข่ง โดยเฉพาะ “เครื่องยนต์” ที่จะถูก “แช่แข็ง” ห้ามไม่ให้มีการพัฒนา โดยทุกทีมจะต้องใช้เครื่องยนต์เดิมไปจนกว่าจะถึงฤดูกาล 2022

แน่นอนว่านี่คือปัจจัยสำคัญที่สร้างความยากลำบากให้กับทุกทีม ในการยกระดับศักยภาพของรถแข่งในช่วง “วินเทอร์เทสต์” ซึ่งจะมีขึ้นเพียง 5 วันที่ กาตาร์ หลังจากที่โปรแกรมของ เซปัง ถูกยกเลิกไป

จากมาตรการดังกล่าว ทำให้เชื่อว่าเป็นงานยากสุดๆ ที่ทีมคู่แข่งอย่าง ฮอนด้า, ยามาฮ่า, ดูคาติ และ เคทีเอ็ม จะพัฒนารถแข่งขึ้นมาเทียบเท่าศักยภาพของ ซูซูกิ ได้ในปี 2021 หลังจากที่พวกเขาแสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งในปี 2020 จนคว้าแชมป์โลกมาครองได้สำเร็จจากผลงานของ โจอัน เมียร์

อย่างไรก็ดี หัวหน้าโปรเจ็กต์ โมโตจีพี ของ ซูซูกิ อย่าง ชินอิจิ ซาฮาระ กลับไม่เห็นด้วยกับมุมนี้เท่าใดนัก โดยเขากล่าวว่า การแช่แข็งการพัฒนาก็ส่งผลต่อการยกระดับบางอย่างของ ซูซูกิ เช่นกัน รวมถึงเป็นการหยุดไอเดียใหม่ๆ ของพวกเขาด้วย แม้จะยอมรับว่ารถแข่ง GSX-RR ในปี 2020 นั้น “ไม่ได้เลวร้ายอะไรก็ตาม”

“ผมขอบอกเลยว่าไม่เห็นด้วย” ซาฮาระ เผย

“ในมุมของวิศวกร เรามักจะมีไอเดียใหม่ๆ เพื่อทำให้รถแข่งดีขึ้นเสมอ แต่โชคดีที่แพ็คเกจรถแข่งของเราในปี 2020 ไม่ได้เลวร้ายนัก”

“ดังนั้น เราจะต้องระมัดระวัง และพิถีพิถันเป็นพิเศษในการพัฒนาแต่ละจุด ว่าเราสามารถแตะต้องจุดไหนได้บ้าง” ยอดวิศวกรชาวญี่ปุ่นเผย

“อย่างไรก็ตาม คุณไม่มีทางรู้เลยว่ากฎใหม่ที่จะมีในอนาคต จะกระทบต่อสิ่งต่างๆ อย่างไรบ้าง แต่ผมคิดว่ามันก็เป็นสถานการณ์เดียวกับที่ค่ายผู้ผลิตทุกรายต้องเจอ”

“นั่นคือมีกฎเดียวสำหรับทุกทีม ดังนั้นนี่จึงเป็นอะไรที่เป็นธรรม และเสมอภาคซึ่งเราทุกคนต้องจัดการให้ดีกับเกมที่วางอยู่บนโต๊ะ”

ซาฮาระ กล่าวเสริมว่า “เช่นเดียวกับที่เราเคยทำมาแล้วในอดีต เราต่างก็พยายามที่จะปรับปรุงรถแข่งในทุกจุดให้ดีขึ้น โดยไม่ให้กระทบกับสมดุลย์ของตัวรถโดยรวม”

“ดูเหมือนว่าในปี 2021 เราจะต้องมองหากริดสตาร์ทที่ดีขึ้น นั่นคือการยกระดับรถแข่งสำหรับการควอลิฟาย โดยไม่ให้กระทบการบาลานซ์ของตัวรถเมื่อใช้ในการแข่งขันจริง”

ประสิทธิภาพในการควอลิฟายนับเป็น “จุดอ่อน” ของ ซูซูกิ ที่เห็นได้ชัดในปีที่ผ่านมา โดย เมียร์ มีค่าเฉลี่ยอันดับสตาร์ทเพียงอันดับที่ 10 เท่านั้นหากเฉลี่ยจากทุกเรซตลอดทั้งปี ส่วน อเล็กซ์ รินส์ ก็มีค่าเฉลี่ยอยู่เพียงแถวที่ 2 เท่านั้น และรถแข่ง GSX-RR ของพวกเขาก็ไม่สามารถคว้าโพลได้เลยในปี 2020

อย่างไรก็ตาม เมียร์ และ รินส์ กลับสามารถพารถแข่ง ซูซูกิ ฉลองบนโพเดี้ยมรวมกันได้ถึง 11 ครั้ง โดยเป็นการคว้าชัยชนะ 2 กรังด์ปรีซ์ และเพียงพอจะทำให้พวกเขาคว้าแชมป์โลกมาครอง รวมถึงอันดับ 3 บนแชมเปี้ยนชิพเมื่อจบฤดูกาล

หนึ่งในทฟษฎีที่คาดการณ์ถึงประสิทธิภาพที่แตกต่างอย่างสุดขั้วของ ซูซูกิ ในรอบควอลิฟาย และในเรซ คือคาแร็กเตอร์ของรถแข่งที่มีต่อยาง โดยเชื่อว่า GSX-RR มักทำความเร็วได้ดีเมื่อยางนิ่มมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในช่วงกลางถึงท้ายๆ เรซ แต่ไม่สามารถรีดประสิทธิภาพสูงสุดได้ในการทำ Flying Lap หรือทำเวลาต่อรอบเพียงรอบเดียว

Exit mobile version