มาตรการ “แช่แข็ง” เครื่องยนต์ฟอร์มูล่าวัน นับตั้งแต่ปี 2022 อย่างเป็นทางการด้วย “มติเอกฉันท์” ในที่ประชุมของคณะกรรมาธิการฟอร์มูล่าวัน ซึ่งสอดคล้องกับการควบคุมต้นทุนของค่ายผู้ผลิต การปล่อยก๊าซคาร์บอนที่เป็นกลาง และเชื้อเพลิงที่ยังยืนจากระบบไฮบริด
เมื่อคืนวันพฤหัสบดีที่ 11 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ที่ประชุมของคณะกรรมาธิการฟอร์มูล่าวัน ซึ่งประกอบด้วย เอฟไอเอ, ฟอร์มูล่าวัน,ตัวแทนจากทีมแข่ง 10 ทีม และค่ายผู้ผลิตเครื่องยนต์ โดยหารือผ่านการประชุมทางวีดีโอเกี่ยวกับหัวข้อมากมาย โดยให้ความสำคัญหลักๆ ที่ “หน่วยพลังงาน” (เครื่องยนต์) เมื่อจบฤดูกาล 2021
เรดบูลล์ เรซซิ่ง มีความกระตือรืนร้นอย่างมากในการผลักดันให้มีการ “แช่แข็งเครื่องยนต์” อย่างน้อยก็เป็นเวลา 1 ปี เพราะนั่นหมายความว่าพวกเขาจะสามารถเดินหน้าในโครงการใช้เครื่องยนต์ “ฮอนด้า” ในปี 2022 ได้ เนื่องจากที่ค่ายผู้ผลิตสัญชาติญี่ปุ่นจะถอนตัวจาก ฟอร์มูล่าวัน หลังสิ้นฤดูกาล 2021
ทั้งนี้ มีการพูดคุยกันเป็นเวลาหลายเดือน เกี่ยวกับการ ”แช่แข็ง” การพัฒนาเครื่องยนต์ โดย เรดบูลล์ ได้กล่าวว่าพวกเขาจะไม่สามารถเดินหน้าโครงการพัฒนาเครื่องยนต์ ฮอนด้า ต่อได้ หากไม่มีการแช่แข็งการพัฒนา รวมถึงส่งเครื่องยนต์ให้ อัลฟาทาวรี ทีมพี่ทีมน้องของพวกเขาด้วย
โดยในการประชุม ทุกฝ่ายสามารถตกลงกันได้ในข้อตกลงร่วมกัน โดยมีเนื้อหาสำคัญในเชิงบวกของ “สัญญาณที่ดีในการพัฒณาที่สำคัญของวงการกีฬา” ซึ่งสะท้อนถึง “ความสามัคคีและจิตวิญญาณในการทำงานร่วมกัน”
นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งคณะทำงานระดับสูง ที่รวมเอาค่ายผู้ผลิตในปัจจุบัน, ค่ายผู้ผลิตเรื่องยนต์ที่มีศักยภาพสูง และซัพพลายเออร์น้ำมันเชื้อเพลง
แถลงการณ์ระบุว่า “ข้อจำกัดสำหรับรถแข่งและเครื่องยน์ในเจนเนอเรชั่นถัดไปมีควมสำคัญอย่างยิ่งต่อ เอฟไอเอ และ เอฟวัน รวมถึง ทีมแข่ง และ ค่ายผู้ผลิตเครื่องยนต์ ซึ่งมีเป้าหมายร่วมกันในเรื่องของการลดค่าใช้จ่าย และการใช้พลังงานสะอาด”
*** โดยวัตถุประสงค์หลักของการพัฒนาเครื่องยนต์ในปี 2025 ได้แก่
- ความยั่งยื่นด้านสิ่งแวดล้อม ที่เกี่ยวเนื่องกับสังคม และแวดวงยานยนต์
- การใช้พลังงานทางเลือกเต็มรูปแบบ
- การผลิตเครื่องยนต์ที่ทรงพลังและเร้าใจ
- การลดต้นทุนในการผลิตอย่างมีนัยยะ
- กระตุ้นความน่าสนใจสำหรับค่ายผู้ผลิตเครื่องยนต์รายใหม่
อย่างไรก็ดีความปลี่ยนแปลงดังกล่าวยังต้องรอการอนุมัติจาก สภามอเตอร์สปอร์ตโลก